วันเสาร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2551

กวางเรนเดียร์ ต้อนรับคริสมาสต์


เรามักพบกวางเรนเดียร์ (reindeer) ในประเทศที่เรียงรายรอบมหาสมุทรอาร์กติก เช่น นอร์เวย์ แคนาดา ไซบีเรีย สวีเดน ฟินแลนด์ กรีนแลนด์ และอะแลสกา เพราะภูมิประเทศแถบนี้หรือที่เรียกว่า tundra นั้น เมื่อถึงหน้าหนาวที่มีหิมะตกนาน ๙ เดือนใน ๑ ปี น้ำในทะเลสาบและแม่น้ำจะกลายเป็นน้ำแข็ง และการมีฤดูร้อนที่นาน ๒-๓ เดือนซึ่งสั้นมาก ทำให้ต้นไม้ขนาดใหญ่ไม่ขึ้น จะมีก็แต่ต้นไม้ขนาดเล็กและหญ้ามอสส์เท่านั้นที่ขึ้นได้ และเมื่อถึงหน้าร้อนที่หิมะละลาย ดอกไม้จะเริ่มบาน แมลงจะออกบิน ดวงอาทิตย์จะขึ้นสูง ๆ ทุกวัน กลางวันจะนานขึ้น ๆ จนในที่สุด ดวงอาทิตย์ก็จะยังปรากฎแม้เป็นเวลาเที่ยงคืน แล้วฤดูหนาวก็หวนกลับมาอีก นั่นคือกลางวันจะสั้นลง ๆ จนในที่สุดก็ไม่มีกลางวันเลย
นี้คือสภาพของภูมิประเทศที่กวางเรนเดียร์อาศัยอยู่ แต่กวางชนิดนี้ก็ไม่ชอบอยู่ติดที่ เพราะเมื่อถึงหน้าหนาว ฝูงกวางจะพากันอพยพลงใต้ เวลากวางอพยพย้ายถิ่น มันจะเดินเป็นขบวนอย่างรู้จุดหมาย โดยให้ตัวเมียเดินนำไปก่อน แล้วอีก ๒-๓ ตัวต่อมา ตัวผู้ก็จะเดินตาม และขณะอพยพศัตรูของมันซึ่งได้แก่ สุนัขป่าก็ อาจเฝ้าดูอยู่ใกล้ขบวน เพื่อจับกินกวางตัวที่อ่อนแอ หรือตัวที่พลัดฝูง หรือตัวที่เดินไม่ทันเพื่อน อนึ่ง เวลาอพยพเหล่ากวางจะทยอยเดินตามกันอย่างต่อเนื่อง คือไม่หยุดเดินแม้เห็นรถไฟกำลังมา ดังนั้น รถไฟก็จะหยุดให้ฝูงกวางข้ามทางรถไฟจนหมด เพราะถ้ารถไฟไม่หยุด ฝูงกวางก็จะเดินพุ่งชนรถไฟเรื่อย ๆ เมื่อฝูงกวางเดินทางถึงจุดหมายปลาย ทาง ซึ่งเป็นสถานที่ที่อากาศอบอุ่น และมีอาหารอุดมสมบูรณ์ มันจะเริ่มผสมพันธุ์เพื่อให้ลูกกวางเกิดทันฤดูใบไม้ผลิต
กวางเรนเดียร์มีลำตัวสูงประมาณ ๑ เมตร ส่วนกวาง caribou ซึ่งเป็น กวางเรนเดียร์อีกพันธุ์หนึ่งที่เลี้ยงกันมากในอเมริกาเหนือนั้น มีลำตัวสูงกว่าคือ ประมาณ ๑.๓ เมตร ถึงแม้จะสูงต่างกัน แต่กวางเรนเดียร์ทุกตัวก็มีคอหนา ลำตัวยาว เท้ามี ๒ กีบเหมือนเท้าวัว ฉะนั้น เวลายืนบนหิมะกีบทั้งสองจะแยกออกเพื่อรับน้ำหนักตัวไม่ให้จมลงในหิมะ และกวางมักใช้กีบที่คมนี้คุ้ยเขี่ยหาอาหารที่ฝังอยู่ใต้หิมะกิน ตามปรกติกวางจะอ้วนท้วนสมบูรณ์ในหน้าร้อน ซึ่งเป็นเวลาที่มันมีอาหารอุดมสมบูรณ์ และเมื่อถึงหน้าหนาวซึ่งเป็นเวลาที่อาหารขาดแคลน กวางจะผอม กวางเรนเดียร์ชอบใช้ชีวิตเป็นฝูง การยืนเป็นกลุ่มนอกจากจะทำให้ร่างกายของมันอบอุ่น เวลาพายุหิมะพัดแล้ว ยังช่วยให้สุนัขป่าไม่กล้าเข้ามาลอบฆ่ามันด้วย เพราะถ้ากวางตัวใดพลัดหลงฝูง กวางตัวนั้นก็มีสิทธิถูกสุนัขป่าฆ่าทันที เพราะสุนัขป่าจะวิ่งไล่ล่ามันอย่างไม่เหน็ดเหนื่อยจนกวางที่พลัดหลงฝูงนั้น หมดแรง และยอมให้สุนัขป่ากัดมันในทีสุด กวางเรนเดียร์ตามปรกติเปลี่ยนสีขน เช่น ในหน้าร้อนขนที่ขึ้นดกตามตัวจะมีสีน้ำตาล ขนคอจะมีสีขาว และขนท้องก็ขาว แต่เมื่อถึงหน้าหนาว ขนตัวจะเปลี่ยนเป็นสีเทา เพื่อให้เข้ากับสีของหิมะที่กำลังจะตกและชาวเอสกิโมและชาวแลปป์มักใช้ขนกวางทอเป็นเสื้อกันหนาว เป็นผ้าห่ม เพราะได้พบว่าขนให้ความอบอุ่น ส่วนหนังกวางนั้นนิยมใช้ทำเตนท์ที่มีลักษณะเหมือนกระโจมอินเดียนแดง ทั้งนี้เพราะหนังกวางสามารถทนพายุหิมะที่พัดไม่รุนแรงนักได้ นอกจากนี้ นมกวางก็ยังสามารถใช้เป็นเครื่องดื่มได้ด้วย ชาวแลปป์ชอบเลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นสัตว์เลี้ยงเหมือนกับที่ชาวอินเดียนิยมเลี้ยงวัว และชาวยุโรปนิยมเลี้ยงแกะ และมักมีประเพณีเชื่อกันว่า จำนวนกวางคือดัชนีชี้บอกฐานะของเจ้าของ เช่น ถ้ามีใครมีกวางน้อยกว่า ๒๕ ตัว คนคนนั้นยากจน เขาจึงอาจต้องนำกวางที่ตนมีไปฝากเลี้ยงกับคนอื่นที่ร่ำรวยกว่า แล้วรับจ้างเป็นผู้ดูแลกวางทั้งฝูงให้ และเพื่อให้รู้ว่ากวางตัวใดเป็นของตน เจ้าของกวางมักใช้วิธีทำเครื่องหมายแสดงความเป็นเจ้าของที่หูกวางตัวนั้น ๆ หน้าที่หลักหนึ่งของกวางเรนเดียร์คือ ลากเลื่อน เพราะกวางชนิดนี้แข็งแรงและชินกับสภาพอากาศ ดังนั้น หากเป็นการเดินทางระยะสั้นความเร็วในการเดินทางอาจสูงถึง ๔๐ กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นการเดินทางไกล กวางอาจเดินได้ไกล ๑๖๐ กิโลเมตรในหนึ่งวัน กวางเรนเดียร์เป็นสัตว์ที่ไม่ชอบต่อสู้กับสัตว์อื่น แต่ชอบต่อสู้กันเองเวลาแย่งตัวเมีย กวางตัวผู้ที่มีเขาสวย จะขวิดจะชนกัน จนตัวหนึ่งชนะแล้ว มันก็จะสร้างฮาเร็มส่วนตัวซึ่งมีตัวเมียหลายตัวเป็นสมาชิก แต่ถ้าการต่อสู้ไม่ยุติมันก็จะสู้กันไปเรื่อย ๆ โดยไม่หยุดกินอาหารจนบางครั้งเขากวางพันกันอย่างแยกจากกันไม่ได้ หากเหตุการณ์ที่ว่านี้บังเกิด กวางก็จะอดอาหารตายทั้งคู่
ในหนังสือเรื่อง Can Reindeer Fly? ของ Roger Highfield ที่จัดพิมพ์โดยบริษัท Metro ISBN 1900512440 ราคา ๑๓ ปอนด์ Highfield ได้กล่าวถึงความเป็นวิทยาศาสตร์ของเทศกาลคริสต์มาสเช่นว่า Santa Claus ใช้กวางเรนเดียร์ลากเลื่อนไปเยือนบ้านนับพันล้านบ้านในคืนวันคริสต์มาสเพียง คืนเดียวได้อย่างไร แต่ถ้าพิจารณาความเป็นไปได้ เราก็จะเห็นว่าเรื่อง Santa Claus กับกวางเรนเดียร์นี้เป็นนิทาน เพราะ
(๑) เท่าที่ประจักษ์ ไม่มีกวางเรนเดียร์ชนิดใดพันธุ์ใดบินได้หรือเหาะได้
(๒) โลกนี้มีเด็กที่มีอายุต่ำกว่า ๑๘ ปี ประมาณ ๒,๐๐๐ ล้านคน ซึ่งเด็กกลุ่มนี้เป็นเด็กนับถือมุสลิม ฮินดู พุทธ คริสต์ ฯลฯ ดังนั้น ถ้าพิจารณาเฉพาะเด็กที่นับถือคริสต์ศาสนา ซึ่ง Santa Claus จะต้องไปเยี่ยมจำนวนก็จะลดลงเหลือประมาณ ๓๘๐ ล้านคน ซึ่งจะกระจายอยู่ตามบ้านต่าง ๆ ประมาณ ๙๒ ล้านบ้าน และถ้าบ้านเหล่านี้แต่ละบ้านมีเด็กนิสัยดี ๑ คน นั่นก็หมายความว่า
(๓) Santa Claus มีเวลา ๓๑ ชั่วโมง ในการเดินทางไป เยี่ยมเด็กใน ๙๒ ล้านบ้านทุกคน นั่นคือ Santa Claus ต้องเยี่ยมบ้านให้ได้ ๘๒๔ หลัง ใน ๑ วินาที และถ้าเราประมาณว่า Santa Claus ใช้เวลา ๑/๑,๐๐๐ วินาที ในการจอดเลื่อน กระโดดจากเลื่อนลงทางปล่องไฟ เอาของขวัญใส่ถุงเท้าเด็กแล้วเอาของขวัญที่เหลือวางใต้ต้นคริสต์มาส กระโจนขึ้นปล่องไฟแล้วขับเลื่อนไปบ้านถัดไปหากบ้านแต่ละบ้านอยู่ห่างกัน ๑.๒๕ กิโลเมตร Santa Claus ต้องเดินทาง ๑.๒๕x๙๒ ล้านกิโลเมตร = ๑๑๕ ล้านกิโลเมตร ในคืนวัน Christmas ด้วยความเร็ว ๑,๐๔๐ กิโลเมตร/วินาที ซึ่งนับว่าเร็วประมาณ ๓,๐๐๐ เท่าของความเร็วเสียง
(๔) สำหรับประเด็นน้ำหนักของขวัญบนเลื่อน ถ้าเรากำหนดให้เด็กแต่ละคนได้ของขวัญคนละ ๑ กิโลกรัม เลื่อนจะต้องบรรทุกน้ำหนักถึง ๙๒ ล้านตัน และต้องลากด้วยกวาง ๖๒ ล้านตัว
(๕) แล้วกวาง ๖๒ ล้านตัวที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูงถึง ๑,๐๔๐ กิโลเมตร/วินาที จะถูกอากาศเสียดสีจนร้อนลุกไหม้ และสิ้นใจตายในทันทีทันใด และพร้อมกันนั้นก็จะมีเสียงโซนิกบูมเกิดขึ้นด้วย ภายในพริบตาตัว Santa เองก็จะถูกเผาไหม้จนตายไปด้วย ดังนั้น เรื่องเล่าที่ว่า Santa มีจริง และกวางเรนเดียร์เหาะได้ และเด็กดีทุกคนได้รับของขวัญวันคริสต์มาสอีฟเป็นนิทาน.

ไม่มีความคิดเห็น: