skip to main |
skip to sidebar
เตือนพ่อแม่สูบบุหรี่ลูกเสี่ยงโรคใหลตาย
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เดินหน้ารณรงค์บ้านปลอดบุหรี่ หลังสำรวจพบ เด็กเล็กป่วยจากควันบุหรี่มือสองสารพัดโรค โดยเฉพาะจากที่บ้าน ทั้งทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ แถมเสี่ยงต่อโรคใหลตายกว่าเด็กปกติ 2.5 เท่า หากพ่อและแม่สูบเพิ่มความเสี่ยงเป็น 4 เท่า พร้อมเผยผลวิจัยเอแบคโพลล์ ปี 51 พบเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีที่มาหาหมอ มีผู้ปกครองสูบบุหรี่ถึงร้อยละ 63 ในจำนวนนี้ ร้อยละ 82 สูบบุหรี่ในบ้านเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ (มสบ.) จัดงานแถลงข่าว "เปิดโครงการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี : ต้นแบบในการรณรงค์ให้บ้านปลอดบุหรี่" ที่สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ภายหลังแถลงข่าวได้จัดกิจกรรมเดินพาเหรดเพื่อบ้านปลอดบุหรี่ของนักเรียนโรงเรียนสวนบัว จากสถาบันไปถึงลานกิจกรรมอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ด้านโรงพยาบาลราชวิถี พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ผู้อำนวยการสถาบัน กล่าวว่า ปัญหาควันบุหรี่มือสองกำลังเป็นภัยร้ายของเด็กเล็ก เนื่องจากข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเมื่อปี 2547 พบว่า มีครัวเรือน 7.3 ล้านครัวเรือนที่มีสมาชิกอย่างน้อยหนึ่งคนสูบบุหรี่ และมีประชากรอายุต่ำกว่า 5 ปีจำนวน 2.28 ล้านคนที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน ซึ่งจากการสำรวจในปี 2550 ยังยืนยันว่าร้อยละ 58.9 หรือ 6.3 ล้านคนจากจำนวนผู้สูบบุหรี่ทั้งหมด 10.8 ล้านคนนิยมสูบบุหรี่ขณะอยู่ในบ้าน แสดงให้เห็นว่าเด็กๆ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงจากภัยของควันบุหรี่ได้เลย รศ.นพ.สรศักดิ์ โล่จินดารัตน์ ผู้แทนราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า เด็กเป็นผู้ได้รับอันตรายจากควันบุหรี่ในบ้านในระดับสูงสุด เพราะเด็กๆ มีระบบทางเดินหายใจที่เล็กอัตราการหายใจเร็วกว่าผู้ใหญ่ และระบบป้องกันภายในร่างกายยังไม่แข็งแรงเหมือนผู้ใหญ่ จึงทำให้เด็กได้รับผลกระทบจากควันบุหรี่มากกว่าผู้ใหญ่หลายเท่า โดยควันบุหรี่มือสองเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคใหลตายในเด็ก หรือโรค SIDS ทำให้เกิดการตายในเด็กตั้งแต่ในครรภ์มารดา และตายเมื่อเป็นทารก โดยพบว่าครอบครัวที่มีพ่อสูบบุหรี่จะทำให้เด็กเสี่ยงเป็นโรคใหลตายเพิ่มขึ้นถึง 2.5 เท่า และหากทั้งพ่อและแม่สูบบุหรี่ความเสี่ยงก็จะเพิ่มเป็น 4 เท่า รศ.นพ.สุวัฒน์ เบญจพลพิทักษ์ อุปนายกสมาคมโรคภูมิแพ้และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคภูมิแพ้ในเด็กมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัย คือ พันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม โดยปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมมักเกิดจากการได้รับควันบุหรี่ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคหอบหืด และโรคภูมิแพ้อากาศ โดยโรคหอบหืดในเด็กไทยพบร้อยละ 12-13 หรือประมาณ 3 ล้านคน แต่โรคนี้มีอันตรายมาก เพราะหากรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้ เนื่องจากเด็กจะมีอาการหายใจไม่ออก ส่วนโรคภูมิแพ้อากาศพบมากถึงร้อยละ 30 ซึ่งโรคดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิต ทำให้มีอาการไอ จามตลอดเวลา ขณะเดียวกันกลุ่มคนที่เป็นโรคภูมิแพ้อยู่แล้วก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ อาทิ โรคระบบทางเดินหายใจอักเสบ เป็นต้น รศ.พญ.มุกดา หวังวีรวงศ์ หัวหน้าโครงการสถาบัน กล่าวว่า สถาบันได้ร่วมกับสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ทำการสำรวจความคิดเห็นต่อการรณรงค์ "บ้านปลอดบุหรี่" ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2551 โดยสำรวจพ่อแม่ ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานอายุตั้งแต่แรกเกิด-12 ปีที่นำมารับบริการที่สถาบัน จำนวน 658 คน พบว่า ร้อยละ 63.4 เป็นผู้สูบบุหรี่ โดยสูบเฉลี่ยวันละ 10.83 มวน หรือเฉลี่ยสูบ 24.5 วันต่อเดือน นอกจากนี้ ร้อยละ 82 ของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่สูบบุหรี่ ยอมรับว่ามีการสูบบุหรี่ในบ้านจริง ขณะที่ร้อยละ 29.2 ยอมรับว่ามีบุตรหลานอยู่ใกล้ขณะที่พ่อแม่ ผู้ปกครองสูบบุหรี่ และร้อยละ 35 เคยเห็นบุตรหลานเลียนแบบท่าทางการสูบบุหรี่ ที่สำคัญร้อยละ 86 ของกลุ่มตัวอย่างเชื่อว่า ผู้ที่รับควันบุหรี่มือสองมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคต่างๆ ได้เช่นเดียวกับคนที่สูบบุหรี่ แต่จากการสำรวจพบว่าผู้ปกครองไม่ถึงครึ่งที่รู้ว่าโรคต่างๆ ในเด็กเกี่ยวข้องกับการได้รับควันบุหรี่มือสอง "ผู้ปกครองทราบว่า ควันบุหรี่มือสองทำให้เด็กเป็นหวัดบ่อยขึ้นเพียงร้อยละ 37 การติดเชื้อทางเดินหายในร้อยละ 51.8 หลอดลมอักเสบร้อยละ 48.8 หืดจับบ่อยขึ้นร้อยละ 53.8 หูน้ำหนวกร้อยละ 17.4 และใหลตายในเด็กเพียงร้อยละ 17 จึงมีความจำเป็นที่สถานบริการทุกแห่งจะต้องร่วมกันให้ความรู้แก่ผู้ปกครองถึงโรคต่างๆ ที่เกิดจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง ซึ่งจากการสำรวจพบว่าร้อยละ 84 ของผู้ปกครองเห็นด้วยกับการรณรงค์ให้บ้านเป็นเขตปลอดบุหรี่" หัวหน้าโครงการสถาบันกล่าว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น